ทำความรู้จัก “โรคอ้วน” พร้อมวิธีรับมือและป้องกัน ลดเสี่ยงโรคแทรกซ้อน

       โรคอ้วน เป็นภาวะที่อันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งเกิดขึ้นได้ง่ายและเป็นกันอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันยังมีหลายคนที่ประสบปัญหาในการรักษาโรคอ้วน เพราะต้องใช้เวลาและความอดทนในการลดน้ำหนักสูง

       โรคอ้วน หากต้องรักษายังต้องพิจารณาโรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุร่วม เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ ไปจนถึงปัจจัยอื่นอย่างพันธุกรรม อายุ การใช้ชีวิตประจำวัน อาหารที่ทาน อาหารเสริมหรือยาประจำตัว

       ทั้งนี้ การรักษาโรคอ้วนก็ไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป เพราะยังมีหลายวิธีที่จะทำให้เราลดน้ำหนักได้อย่างปลอดภัย รวมไปถึงการป้องกันหรือคุมน้ำหนักไม่ให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วน ซึ่งเราสามารถรู้เกณฑ์มาตรฐานโรคอ้วนได้ง่าย ๆ จากค่าดัชนีมวลกาย อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ในบทความนี้เลยครับ – หมอไอซ์ Amara Liposuction Center

โรคอ้วนคืออะไร?


        โรคอ้วน (Obesity) คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันมากเกินไป ซึ่งจะนำไปสู่บ่อเกิดของโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ มีผลกระทบต่อสุขภาพหลายอย่างจนถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มี โดยมักจะเกิดจากการมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดี กระตุ้นให้มีไขมันสะสม เอาเข้ามากกว่าเอาออก

        โดยโรคอ้วนสามารถตรวจเบื้องต้นได้จากการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (สามารถคำนวณด้วยตัวเองได้ที่ BMI calculator) หากมีค่าดัชนีมวลกายอยู่ที่ 25-30 จะเป็นแค่ภาวะน้ำหนักเกิน แต่ถ้าได้ผลลัพธ์ดัชนีมวลกายมากกว่า 30 ขึ้นไปจะจัดอยู่ในกลุ่มโรคอ้วน

        โรคอ้วนยังสามารถตรวจเบื้องต้นได้จากการวัดรอบเอว สำหรับรอบเอวผู้ชายที่เกิน 35 นิ้ว และรอบเอวผู้หญิงที่เกิน 31 นิ้ว จะเข้าข่ายเป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะอ้วนลงพุง

Obesity meaning

โรคอ้วน สาเหตุคืออะไร?


        จริง ๆ แล้วมักจะมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการทานอาหารมากกว่าครับ ซึ่งก็คือการที่เราปล่อยให้ร่างกายได้รับพลังงานเกินกว่าที่จำเป็นต่อวัน (นับเป็นแคลอรี่) พลังงานที่มากเกินความจำเป็นจะถูกกำหนดให้สะสมเป็นไขมัน เราก็จะอ้วนขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งทานเยอะก็ยิ่งสะสม และโรคอ้วน ยังมีสาเหตุร่วมอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น

  • พันธุกรรม

    ทำให้ร่างกายมีการกระตุ้นการเปลี่ยนพลังงานมาสะสมเป็นไขมันได้ง่าย

  • ความเครียด

    ร่างกายหลั่งฮอร์โมนไม่คอร์ติซอล (Cortisol) ทำให้หิวมากกว่าปกติ

  • อายุมากขึ้น

    ระบบเผาผลาญทำงานได้น้อยลง การสะสมไขมันจึงมากขึ้น

  • พักผ่อนไม่เพียงพอ

    มีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนหิว-อิ่ม ทำให้รู้สึกอยากอาหาร

  • กำลังตั้งครรภ์

    ต้องทานอาหารบำรุงเด็ก เพิ่มน้ำนม ออกกำลังกายไม่ได้ คลอดแล้วลดหุ่นยาก

  • ระบบเผาผลาญมีปัญหา

    ทำให้ระดับความดัน คอเลสเตอรอล ไขมันหรือน้ำตาลในเลือดสูง

  • เป็นผู้ป่วยถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

    ฮอร์โมนเสียสมดุล ทำให้น้ำหนักขึ้นได้ง่าย

  • พร่องไทรอยด์ (Hypothyroidism)

    ฮอร์โมนไทรอยด์ไม่เพียงพอ ทำให้อ้วนขึ้น อ้วนง่าย

  • มีอาการปวดเรื้อรัง

    เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระดูก ทำให้ขยับร่างกายได้น้อย

  • เป็นผู้ป่วยพราเดอร์-วิลลี่ (Prader-Willi Syndrome)

    ทำให้รู้สึกหิวอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา

  • กำลังเลิกบุหรี่

    ทำให้ต่อมรับรสกลับมาทำงานปกติ ร่างกายจะอยากอาหารมากขึ้น

  • ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับการทานอาหาร

    เช่น โรคกินไม่หยุด ทำให้อยากกินตลอดเวลา กินจุบจิบ

คนเป็นโรคอ้วน มีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?


       โรคอ้วนมีภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง และสามารถนำไปสู่โรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยครับ ซึ่งเป็นเพราะปริมาณไขมันที่สะสมอยู่ตามร่างกายจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ เสียหาย เสื่อมสมรรถภาพ อักเสบ หรือทำงานได้ลำบาก ซึ่งก่อให้เกิดโรคร้ายแรงและภาวะแทรกซ้อนหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น

  • ไขมันพอกตับ
  • ความดันเลือดสูง
  • น้ำตาลในเลือดสูง
  • โรคหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • นิ่วในถุงน้ำดี
  • คอเลสเตอรอลสูงหรือไขมันในเลือดสูง
  • นอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ
  • ข้อเข่าเสื่อมหรืออักเสบ
  • มะเร็งเต้านมหรือมะเร็งลำไส้
  • สุขภาพจิตย่ำแย่ลง
  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

รักษาโรคอ้วนยังไงดี?


        การรักษาโรคอ้วนนั้น มีวิธีง่าย ๆ คือการลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติครับ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายและควบคุมอาหารเพื่อไม่ให้ได้รับพลังงานต่อวันมากเกินไป เป็นการบังคับให้ร่างกายดึงเอาพลังงานที่สะสมอยู่มาใช้ เรียกว่ากดดันให้ร่างกายเผาผลาญไขมันมาเป็นพลังงาน

       แต่การคุมอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วนนั้น ไม่ใช่แค่ทานให้น้อย ๆ เท่านั้นนะครับ ผู้ป่วยโรคอ้วนยังสามารถรับประทานอาหารทั่วไปได้ เพียงแต่จะต้องคุมปริมาณแคลอรี่อย่างเคร่งครัด และเลือกทานอาหารที่ช่วยเพิ่มการเผาผลาญ และเลี่ยงอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ทานไปก็สะสมเป็นไขมันเลว

Obesity Treats

ตัวอย่างรูปแบบการคุมอาหาร

       การคุมอาหารมีหลากหลายแบบครับ ซึ่งก็จะมีแนวทางการคุมอาหารและประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป โดยหมอจะยกตัวอย่างมาให้ทั้งหมด 5 แบบด้วยกัน ดังนี้

  • แบ่งสัดส่วนของมื้อแบบ 2:1:1 เป็นการแบ่งปริมาณอาหารในหนึ่งมื้อเป็นสัดส่วน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่าง ๆ แบบครบถ้วน โดยไม่มีไขมันสูงเกินไป คือ ผัก 2 ส่วน + ข้าว 1 ส่วน + เนื้อ 1 ส่วน ซึ่งจะต้องเน้นผักหลากสี ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และเนื้อจะต้องไขมันน้อย โปรตีนเยอะ เช่น เนื้อปลา อกไก่ สันในไก่
  • กำหนดเวลาแบบ Intermitted Fasting (IF) เป็นการจำกัดระยะเวลาการทานอาหาร เพื่อไม่ให้ไขมันสะสมมากเกินไป ลดการกินจุบจิบไม่เป็นเวลาได้ โดยส่วนใหญ่จะกำหนดเวลาทำ IF ช่วงเวลาเป็น 16/8 คือ ต้องอดอาหาร 16 ชั่วโมงและทานอาหาร 8 ชั่วโมง มักทำร่วมกับการออกกำลังกายควบคู่กัน
  • กำหนดเวลาแบบ Circadian Fasting เป็นการจำกัดระยะเวลาการทานอาหารเช่นกันครับ แต่จะต่างกับ IF ตรงที่สามารถทานอาหารได้ครบทั้งสามมื้อ ไม่ต้องอดอาหาร ได้พลังงานตลอดทั้งวัน เพราะ Circadian Fasting จะเน้นทานอาหารตอนกลางวันและอดตอนกลางคืน ทำร่วมกับรูทีนการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายตามนาฬิกาชีวิต เหมาะกับคนที่อดอาหารนาน ๆ ไม่ได้ หรือคนที่เป็นโรคกระเพาะ
  • ทานอาหารแบบ Ketogenic Diet เป็นการกำหนดประเภทอาหารแบบลดปริมาณคาร์โบไฮเดรต แต่ไปเน้นไขมันและโปรตีนจากพืชและสัตว์แทน ทำให้ร่างกายเกิดภาวะ Ketosis คือ บังคับให้ร่างกายใช้พลังงานจากไขมันที่กินเข้าไป ซึ่งจะไปกระตุ้นการเผาผลาญไขมันเดิมด้วย เพราะร่างกายไม่ได้รับคาร์โบไฮเดรตมาเปลี่ยนเป็นพลังงานนั่นเอง แต่จะไม่เหมาะกับคนเป็นเบาหวาน เพราะการงดแป้งและน้ำตาลทำให้อินซูลินเสียสมดุล
  • ทานอาหารแบบ Paleo Diet เป็นการกำหนดประเภทอาหารแบบเน้นธรรมชาติ ไม่ปรุงรส เรียกอีกอย่างว่า อาหารคลีน คล้ายการทานอาหารแบบมนุษย์ถ้ำ เน้นผักผลไม้ ไม่เติมแต่งรสชาติ โดยจะมีสัดส่วนคือ ไขมัน 35% คาร์โบไฮเดรต 35% และโปรตีน 30%

       ทั้งนี้ หากคุณกำลังอยู่ในภาวะน้ำหนักเกินเล็กน้อย วิธีดังกล่าวสามารถทำได้เลยครับ แต่ถ้าคุณกำลังเป็นโรคอ้วนระดับที่ 1 ขึ้นไปหรือค่า BMI มากกว่า 30-35 ขึ้นไป อาจจะต้องคุมอาหารและมีโปรแกรมออกกำลังกายที่จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญทางโภชนาการหรือแพทย์จะเหมาะกว่า

       การรักษาโรคอ้วนภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญนั้น จะทำให้เราลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญสามารถให้คำตอบได้ว่าร่างกายเรามีการทำงานอย่างไร ตอบสนองต่อการทานอาหารแบบไหน เมื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับตัวเรา ก็จะมองเห็นแนวทางการลดน้ำหนักได้ชัดเจน และเข้าใกล้เป้าหมายได้ง่ายขึ้นครับ

       ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นผู้ป่วยไทรอยด์ แพทย์อาจจะแนะนำให้ทานยาประจำตัวอย่างเคร่งครัด และแนะนำการแบ่งสัดส่วนมื้ออาหารให้เข้ากับสภาพร่างกายของเรา ก็จะทำให้ทานอาหารได้ง่ายขึ้น โดยไม่ไปกระตุ้นให้ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เป็นต้น

       สำหรับวิธีรักษาโรคอ้วนแบบทางลัด (ซึ่งเป็นคำถามที่ถูกหยิบมาถามบ่อยมาก!) หมอแนะนำเป็นการดูดไขมันครับ ซึ่งการดูดไขมันเป็นการใช้เครื่องมือทางการแพทย์เข้าไปสลายไขมันที่อยู่ใต้ชั้นผิวจนอยู่ในรูปของเหลว และดูดไขมันออกมา มีจุดประสงค์เพื่อปรับสัดส่วนให้เข้ารูป จะทำให้ออกกำลังกายได้ง่ายขึ้นเพราะเคลื่อนไหวสะดวกขึ้นนั่นเองครับ

        แต่ถ้าไม่อยากเข้าห้องผ่าตัด หรืออยากลดน้ำหนักจริง ๆ ไม่ใช่แค่ลดสัดส่วน หมอจะแนะนำเป็นการใช้ปากกาลดน้ำหนักเข้าช่วยครับ เหมาะกับคนที่มีปัญหาเรื่องการทานอาหาร ทานจุบจิบ ไม่เป็นเวลา คุมตัวเองได้ยาก สาร GLP-1 Analogue ที่ช่วยคุมความหิว-อิ่ม เราจะปรับพฤติกรรมการทานได้ง่ายขึ้น

        นอกจากนี้ ปากกาลดน้ำหนักยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากความอ้วนได้ เช่น โรคความดันสูง น้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น เหมาะกับคนที่มีปัญหาเรื่องการหลั่งอินซูลินอย่างมากเลยครับ

        ทั้งนี้ การใช้ปากกาลดน้ำหนัก จะมีผลข้างเคียงค่อนข้างมากหากซื้อมาฉีดเอง จึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการปรับปริมาณยาที่ต้องฉีดให้เข้ากับสภาพร่างกายของเราด้วย เพราะการฉีดเองอาจวัดปริมาณไม่ถูกต้อง เกิดการใช้ยาเกินขนาด (Overdose) จนทำให้มีเอฟเฟคตามมาได้ครับ

บทสรุป

        โรคอ้วน คือภาวะที่ร่างกายสะสมไขมันในปริมาณมากเกินไป ทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงเกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ สูง โดยแนวทางการรักษาโรคอ้วนหลัก ๆ คือการคุมอาหารและลดน้ำหนัก จะเป็นวิธีที่ยั่งยืนที่สุด ทั้งนี้ ก็ยังมีวิธีทางการแพทย์เช่น การดูดไขมันหรือการใช้ปากกาลดน้ำหนัก สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการคุมอาหาร ออกกำลังกาย เพื่อสนับสนุนให้การรักษาโรคอ้วนนั้นง่ายขึ้น

วิธีลดความอ้วนแบบง่ายและรวดเร็ว

ปรึกษาแพทย์ ฟรี!

ลงทะเบียน คลิกที่นี่
สาขารัชโยธิน 062-946-2397
สาขาราชพฤกษ์ 062-556-6623
สอบถามโปรโมชั่น LINE: @amaraclinic
หรือคลิกลิงค์นี้ได้เลย https://line.me/R/ti/p/@amaraclinic

แพทย์ผู้ชำนาญการ
ด้านดูดไขมัน-เติมไขมัน

นพ. วิษณุ เฮ้งสวัสดิ์ (หมอไอซ์)

ลงทะเบียนปรึกษาฟรี!


              บทความนี้ จัดทำขึ้นโดย Amara Clinic (เอมาร่า คลินิก) ขอสงวนสิทธิ์ในการห้ามมิให้ผู้ใดใช้ประโยชน์ คัดลอก ทำซ้ำ หรือเผยแพร่บทความนี้ในนามอื่น (ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา, ข้อมูลทั้งหมด หรือบางส่วนก็ตาม) โดยไม่ได้รับอนุญาต หากพบเจอจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย

    2 thoughts on “ทำความรู้จัก “โรคอ้วน” พร้อมวิธีรับมือและป้องกัน ลดเสี่ยงโรคแทรกซ้อน

    1. Pingback: ไม่กินข้าวเช้า ผลเสียกระทบทุกด้าน! 10 ข้อเสียไม่กินข้าวเช้ามีอะไรบ้าง?

    2. Pingback: สังคัง! ปัญหาผิวหนังยอดฮิตในผู้ชาย ที่ไม่ใช่แค่เรื่องล้อเล่น

    Comments are closed.